คุณธรรมจริยธรรมในการใช้อินเตอร์เน็ต
คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต.
เนื่องจากอินเทอร์เน็ต คือ ระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เกิดจากการเชื่อมต่อเครือข่ายขนาดเล็กจำนวนมากเข้าด้วยกัน เมื่อมีระบบเครือข่ายเกิดขึ้น มันทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นผ่านทางระบบเครือข่ายได้ ทั้งกับคนสนิทและบุคคลทั่วไป ซึ่งการที่เราติดต่อสื่อสารกันได้เช่นนี้
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข นั่นก็คือ มารยาทและกฎกติกาของสังคม นึกง่ายๆ ว่า ถ้าเกิดประเทศเราไม่มีกฎหมายในการจัดการบ้านเมือง เช่น กฎจราจร ผู้คนคงขับรถกันตามใจชอบ และต่อให้ขับรถชนคนอื่นก็จะไม่มีการถูกลงโทษใดๆ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน
ดังนั้น ในยุคปัจจุบันที่เราแทบทุกคนต่างมีสังคมอีกแห่งหนึ่งอย่าง สังคมในโลกอินเทอร์เน็ต เราจึงจำเป็นจะต้องรู้จักกฎ กติกา และมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือเราควรจะมีคุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการให้เกียรติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
สำหรับคุณธรรมและจริยธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ควรมี มีทั้งหมด 6 อย่าง ดังนี้
1. ใช้ถ้อยคำสุภาพ
การที่เราจะสื่อสารกับใครสักคนบนโลกอินเทอร์เน็ต เราต้องคำนึงเสมอว่า คนที่เราจะสื่อสารด้วยเป็นใคร ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นหน้าของคู่สื่อสาร แต่เราต้องคำนึงไว้ก่อนว่าเขามีตัวตน มีความรู้สึก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าครูจะโพสต์ทวงงานนักเรียนในกรุ๊ปเฟสบุ๊ครายวิชา ครูก็ต้องนึกก่อนว่า ในฐานะครู จำเป็นจะต้องใช้คำพูดกับนักเรียนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการจะบอก โดยที่นักเรียนก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกครูคุกคามหรือทำหยาบคายใส่
2. ปฏิบัติตามกฎ กติกา และมารยาทที่แต่ละเว็บไซต์กำหนด
แต่ละเว็บไซต์จะมีการกำหนดกฎ กติกา และมารยาทในการใช้เว็บไซต์ เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้เว็บไซต์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เช่น เว็บไซต์ YouTube มีการกำหนดว่า หากผู้ใดต้องการอัปโหลดวิดีโอ เนื้อหาในวิดีโอนั้นจะต้องไม่มีเนื้อหาที่สื่อถึงความลามกหรืออนาจาร เป็นต้น
3. ให้เครดิตแหล่งที่มาข้อมูลเสมอ เมื่อมีการนำข้อมูลผู้อื่นมาใช้
เมื่อเรามีการนำข้อมูลของคนอื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอต่างๆ เราต้องให้แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและไม่ละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล หากเรานำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ให้แหล่งที่มา เราอาจจะถูกฟ้องร้องเพราะไปขโมยข้อมูลของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตได้
* ลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ในเว็บไซต์นี้ก็มีการแปะเว็บไซต์แหล่งที่มาข้อมูลเช่นกัน
4. ไม่แชร์ข้อมูลผิดๆ หรือภาพที่ไม่เหมาะสม
การแชร์ข้อมูลผิดๆ หรือภาพที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ภาพศพที่ไม่มีการเซ็นเซอร์ ภาพอนาจาร หรือการแชร์ข้อมูลการรักษาโรคแบบผิดๆ การที่เราแชร์สิ่งเหล่านี้ออกไป ไม่ว่าจะด้วยความสนุกหรืออะไรก็ตาม หากเราแชร์ไปโดยที่ไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ก็จะทำให้คนอื่นๆ ที่มาเห็นข้อมูลเหล่านี้เข้าใจผิดหรือรู้สึกไม่ดีได้ รวมถึงอาจเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่นอีกด้วย
5. ไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น
เวลาที่เรามาเจอเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เราคงเคยบอกว่าเพื่อนคนไหนน่ารำคาญจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เพื่อนพูดมาก เพื่อนขี้บ่น หรือเพื่อนชอบเซ้าซี้ขอให้เราทำอะไรสักอย่างให้ไม่ยอมหยุด
ส่วนในโลกอินเทอร์เน็ต การสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นก็ไม่ได้แตกต่างไปมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การสแปมข้อความซ้ำๆ การส่งจดหมายลูกโซ่ หรือการส่งคำเชิญเล่นเกมไปให้คนอื่นบ่อยจนเกินไป
6. ไม่ละเมิดสิทธิและไม่กลั่นแกล้งผู้อื่น
ปัจจุบันการละเมิดสิทธิและกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกอินเทอร์เน็ตมีเยอะมาก เช่น การแอบถ่ายรูปคนอื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อนุญาต แล้วนำรูปแอบถ่ายไปอัปขึ้น Facebook พร้อมวิจารณ์เขาเสียๆ หายๆ หรือการไปโพสต์แสดงความคิดเห็นด้วยคำหยาบคาย ด่าทอผู้อื่นแบบไม่มีเหตุผล (ภาษาง่ายๆ ที่เราเรียกกัน คือ “พวกนักเลงคีย์บอร์ด”) เป็นต้น.
Comments
Post a Comment